6 องค์กรสิทธิ ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจ
**************************************************************
เผยแพร่วันที่ 27 เมษายน 2559
-
สืบเนื่องจากช่วงเช้าวันนี้ (27 เมษายน 2559) มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าทำการจับกุมควบคุมตัวบุคคลทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดขอนแก่นอย่างน้อย 10 ราย โดยมีการบุกค้นตรวจยึดทรัพย์สินไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสาเหตุของการควบคุมตัว และไม่แจ้งว่าจะนำตัวไปควบคุมไว้ ณ สถานที่ใด จนปรากฏข้อมูลในเวลาต่อมาว่ามีการควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวไว้ยังมณฑลทหารบกที่ 11 และสืบเนื่องจากเหตุการณ์การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลดังกล่าว ในช่วงเย็นของวันเดียวกันนั้นได้มีนักกิจกรรมและประชาชนจำนวนหนึ่งทำการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บริเวณพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวไว้เมื่อช่วงเช้า แต่ต่อมากลุ่มบุคคลที่แสดงออกดังกล่าวก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวไปอีกกว่า 16 คน
-
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่เป็นไปตามหลักการพิจารณาที่เป็นธรรม (Fair trial) โดยเฉพาะการจับกุมโดยไม่มีหมายที่ออกโดยศาล ไม่แจ้งข้อกล่าวหาและเหตุผลในการจับกุม และไม่มีการแจ้งสถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัว ซึ่งการใช้อำนาจโดยพลการในลักษณะเช่นนี้ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการรัฐประหารแม้บางกรณีเจ้าหน้าที่ทหารจะอ้างอำนาจตามกฎหมาย แต่กฎหมายดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ออกโดยอำนาจของหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ (Rule of Law) เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกมาอย่างไร้เหตุผลหรือตามอำเภอใจ ไม่สอดคล้องกับหลักแห่งความจำเป็นและหลักสัดส่วน (necessity and proportionality) การควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยอำนาจในลักษณะดังกล่าวจึงขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนที่ถูกรับรองไว้ในมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง
-
สิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคล และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง พ.ศ. 2509 ตลอดจนอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527 (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีซึ่งรัฐมีหน้าที่เคารพ คุ้มครองและส่งเสริมให้สิทธิตามพันธกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจริงและไม่อาจจำกัดหรือละเมิดได้ไม่ว่าในสภาวะไม่ปกติหรือสภาวะฉุกเฉินใด
-
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติเคารพต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยปล่อยบุคคลที่ถูกควบคุมตัวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และต้องยุติการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจและยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 อันเป็นที่มาของการใช้อำนาจที่ขาดการตรวจสอบ และยกเว้นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งก่อให้เกิดความการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องตลอดมา
-
ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
-
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL)
No comments:
Post a Comment