เมื่อเมืองไทยไร้ป่า โดย วสิษฐ เดชกุญชร
เครดิต มติชนออนไลน์
ผมเห็นใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาร้อยแปดพันเก้านับตั้งแต่ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง และเข้าไปบริหารงานบ้านเมืองตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557 เป็นต้นมา เมืองไทยในขณะนั้น (และขณะนี้) หากเปรียบกับคนก็กำลังเป็นคนไข้หนักด้วยโรคเรื้อรังหลายโรค ไม่ว่าจะแตะตรงไหนก็พบว่าเจ็บป่วยตรงนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้พยายามแก้ปัญหาทั้งหลายด้วยอุบายต่างๆ เริ่มด้วยการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่แล้วตามปกติ ปัญหาใดที่เห็นว่าไม่สามารถจะคอยให้มาตรการทางกฎหมายธรรมดาปรากฏผล ก็ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแก้ปัญหานั้น แม้กระนั้นปัญหาก็ยังมิได้ลดน้อยถอยลง เพราะปัญหาใหญ่อื่นๆ ที่คอยการแก้ไขก็ยังมีอยู่อีกเป็นอันมาก
ปัญหาสำคัญและเร่งด่วนอีก ปัญหาหนึ่งคือปัญหาป่าไม้ของเมืองไทยซึ่งปรากฏตามสถิติของกรมป่าไม้ว่าถูก รุกและทำลายอย่างไม่หยุดยั้ง ในปี พ.ศ.2555 ป่าถูกรุกเป็นพื้นที่ 43,539 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 1,096,112,407 ล้านบาท ปี พ.ศ.2556 ป่าถูกรุก 36,998 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 3,444,343,610 ล้านบาท และในปี พ.ศ.2557 ป่าถูกรุกเป็นพื้นที่ 81,962 ไร่ และยังไม่มีการประเมินมูลค่าความเสียหาย
ป่า ไม้ที่ถูกรุกเหล่านี้ถูกทำลายลงเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางและข้าวโพด และเป็นต้นน้ำที่เลี้ยงป่าในหลายจังหวัดในภาคเหนือเป็นเนื้อที่มหาศาล เช่น ลุ่มน้ำป่าสัก 800,000 ไร่ ลุ่มน้ำวัง (อำเภอเถิน จังหวัดตาก) 300,000 ไร่ ลุ่มน้ำยม (ในอำเภองาว จังหวัดลำปาง) 400,000 ไร่ ลุ่มน้ำปิง (จังหวัดตาก) 450,000 ไร่ ลุ่มน้ำน่าน 1,800,000 ไร่ และลุ่มน้ำปิง (อำเภออมก๋อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน) 120,000 ไร่ เมื่อถูกถางและทำลายลงจนเตียนโล่ง ผลกระทบที่ได้รับทันทีก็คือไม่มีต้นไม้ที่จะรองรับและขังน้ำจากฝนที่ตกลงมา น้ำฝนไหลลงสู่ลุ่มน้ำในที่ต่ำโดยปราศจากการควบคุม เป็นเหตุให้น้ำท่วมอย่างมหาศาลและรุนแรง พืชพันธุ์ธัญญาหารเสียหาย ครั้นเมื่อน้ำไหลผ่านไปแล้วพื้นดินก็แห้งแล้ง ไม่สามารถจะเพาะปลูกอะไรได้ ขณะที่เขียนเรื่องนี้ แม่น้ำบางสายเช่นแม่น้ำยม ตั้งแต่ในเขตอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ลงไปจนถึงเขตอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร น้ำเหือดแห้งจนใช้เป็นสนามกีฬาและสนามเด็กเล่นได้ ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่มีน้ำสำหรับผลิตน้ำประปา ชาวบ้านต้องอาศัยน้ำบ่อดื่มและใช้สอยแทน
การรุกและทำลายป่านั้นมิใช่ เพิ่งเกิด แต่เกิดมานานแล้ว และเกิดโดยเจ้าหน้าที่ราชการที่เกี่ยวข้องรู้เห็นแต่ปล่อยปละละเลย และในหลายกรณีร่วมมือกับผู้รุกและทำลายป่าด้วย ทั้งโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ในหลายพื้นปัญหาแทรกซ้อนที่ตามมาหลังจากการรุกและทำลายป่าก็คือ ชาวบ้านใช้เผาทำลายป่าเพื่อให้ได้พื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันรุนแรงในบางจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย กระทบถึงสุขภาพของประชาชนในจังหวัดนั้นๆ ด้วย
ขณะนี้ไม่ปรากฏชัดว่า ทางราชการถือว่าปัญหานี้เป็นปัญหารีบด่วนที่จะต้องแก้ไขโดยเร็วที่สุดเท่า ที่จะทำได้ แต่ดูเหมือนทางราชการจะใช้วิธีประชุมหารือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ ปัญหาการเพาะปลูก ซึ่งเป็นปลายเหตุ ส่วนต้นตอของปัญหาคือการรุกและทำลายป่านั้น ยังไม่ได้ยินว่าใครคิดจะแก้ไขอย่างไร
อ่านต่อที่
No comments:
Post a Comment